องค์การสหประชาชาติได้ผลักดันการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยมีเป้าหมาย 17 ข้อซึ่งได้รับการยอมรับและความร่วมมือจากนานาประเทศ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืนและบรรลุเป้าหมายดังกล่าว โดยใช้วิทยาการและเทคโนโลยีเข้ามามีส่วนร่วม และ “AIP” คือเครื่องมือหนึ่งที่ GISTDA พัฒนาให้ประเทศไทยสามารถตรวจสอบ ติดตาม และประเมินผลการพัฒนาในมิติ เศรษฐกิจ สังคม และ สิ่งแวดล้อม ได้อย่างยั่งยืน
ทุกวันนี้โลกของเราเต็มไปด้วยปัญหาต่าง ๆ ตั้งแต่ความยากจน ไปถึงปัญหาทรัพยากรธรรมชาติซึ่งล้วนแต่มีผลกระทบใหญ่ต่อคุณภาพชีวิตของเราและคนรุ่นหลัง องค์การสหประชาชาติจึงได้ผลักดัน SDGs หรือ Sustainable Development Goals ซึ่งหมายถึง “เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 17 เป้าหมาย” ที่มีประเทศสมาชิกทั้งหมด 193 ประเทศร่วมลงนามรับรอง โดยเป้าหมายทั้ง 17 ข้อกลั่นกรองมาจากความเห็นของผู้คนทั่วโลกถึงโลกที่ทุกคนอยากเห็นในปี 2030
แน่นอนว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่ร่วมลงนามและพยายามพัฒนาเพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องครับ
สำหรับ GISTDA ในฐานะผู้ให้บริการและพัฒนาเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ โดยเฉพาะ “ข้อมูลจากดาวเทียม” แน่นอนว่าต้องผลักดันให้เครื่องมือนี้ตอบสนองเป้าหมาย SDGs ให้ได้มากที่สุด โดยข้อมูลจากดาวเทียมนอกจากจะมีความแม่นยำสูงแล้วยังสามารถนำมาประยุกต์ใช้งานได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น ด้านการจัดการน้ำ ด้านการจัดการเกษตรกรรม ด้านการจัดการภัยพิบัติ ด้านความมั่นคง ด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และด้านการจัดการเมือง
แม้จะประยุกต์ใช้ได้ครอบคลุมและหลากหลาย แต่ GISTDA ก็ไม่ได้หยุดพัฒนาความสามารถของเทคโนโลยีอวกาศ จึงได้เกิดโครงการ THEOS-2 ขึ้น ซึ่งโครงการนี้จะช่วยยกระดับประสิทธิภาพข้อมูลดาวเทียมไปอีกขั้น รวมถึงบูรณาการข้อมูลกับหน่วยงานอื่น ๆ ซึ่งจะนำไปสู่การเกิดนโยบายอัจฉริยะที่นำมาปฏิบัติได้จริงหรือ AIP ครับ
AIP ย่อมาจาก Actionable Intelligence Policy เป็นผลลัพธ์จากการรวบรวมข้อมูลสารสนเทศภูมิศาสตร์จากแหล่งต่าง ๆ เพื่อนำมาสร้างเครื่องมือแก้ไขปัญหา โดยเครื่องมือนั้นจะเข้าสู่กระบวนการวิเคราะห์หลากหลายขั้นตอนร่วมกับข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ออกมาเป็นนโยบายที่สามารถทำได้จริง
AIP เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้ประเทศไทยตอบรับและสนับสนุนนโยบายความยั่งยืนของ SDGs ได้ เช่น เป้าหมายเรื่องการเติบโตทางเศรษฐกิจ SDGs เป้าหมายที่ 8 Decent Work and Economic Growth โดย AIP สามารถรวบรวมข้อมูลต่าง ๆ มาร่วมวิเคราะห์และจำลองภาพอนาคตของการใช้ทรัพยากรที่สำคัญ เช่น น้ำ ว่ามีความเพียงพอสำหรับพื้นที่ที่เป็นพื้นที่เป้าหมายของการพัฒนาอุตสาหกรรมหรือไม่ เพื่อเป็นข้อมูลให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเลือกใช้ในการเตรียมการขับเคลื่อนนโยบายด้านเศรฐกิจของประเทศต่อไปครับ
หรืออย่างการตอบโจทย์ของปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ก็สามารถนำข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ มาศึกษาร่วมกันว่าเขตพื้นที่ไหนต้องการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมด้านใด และจำลองว่าวิธีการไหนจะเหมาะสมสำหรับการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมในเขตพื้นที่นั้น ๆ มากที่สุด
AIP จะช่วยตอบโจทย์การพัฒนาอย่างยั่งยืนและเป็นเครื่องมือสำคัญช่วยหน่วยงานตัดสินใจว่า การแก้ปัญหาแบบไหนเป็นสิ่งที่ดีและยั่งยืนที่สุด และนำมาช่วยสนับสนุนการแก้ไขปัญหาได้หลากหลาย