ภัยแล้งมักได้รับความสนใจค่อนข้างน้อย เมื่อเปรียบเทียบกับภัยพิบัติที่เกิดจากแผ่นดินไหวและพายุไซโคลนซึ่งเป็นความเสี่ยงที่ 'รุนแรง' อย่างฉับพลัน หากแต่ภัยแล้งนั้นเป็นวิกฤตที่ครอบคลุมอาณาบริเวณและสร้างความเดือดร้อนใน 'วงกว้าง' กว่า ด้วยการเริ่มก่อเกิดช้า การเกิดขึ้นซ้ำ ๆ หรือการสะสมความต่อเนื่อง จนอาจทำให้หลายพื้นที่หรือผู้นำในบางพื้นที่มองข้ามไป
ตลอดช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ภัยแล้งค่อยเริ่มเกิดขึ้นอย่างช้า ๆ ค่อย ๆ คืบคลานสร้างความเสียหายขยายขอบเขตพื้นที่กว้างมากขึ้น จากการขาดฝนซึ่งเป็นผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่ทวีรุนแรงมากขึ้น แม้รูปแบบการเกิดภัยแล้งจะเป็นช่วงเวลาสั้นๆ แต่ถ้าสภาพอากาศหรือรูปแบบการไหลเวียนของบรรยากาศที่แปรปรวนส่งผลให้ฝนขาดดุลเป็นเวลานานต่อเนื่องหลายเดือนถึงหลายปีสะสมจนอาจกลายเป็นวิกฤตเป็นภัยแล้งถาวรหรือระยะยาวได้
ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้วิกฤตภัยแล้งได้ส่งผลกระทบต่อผู้คนกว่า 66 ล้านคน นับเป็นเหตุการณ์ที่รุนแรงที่สุดที่เกิดขึ้นในช่วงหลายปีของปรากฎการณ์เอลนีโญ จากการเฝ้าติดตามสภาวะการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของโลกพบว่า ภัยแล้งไม่เพียงแต่สร้างความเสียหายให้กับด้านการเกษตรเท่านั้น ภัยแล้งยังส่งผลกระทบลุกลามถึงภาคอุตสาหกรรม ภาคการผลิต และภาคการบริการ ที่ครอบคลุมทั้งเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเปราะบางในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกอย่างมาก ทั้งด้านการสูญเสียชีวิตและความเป็นอยู่ของมนุษย์ ความมั่นคงด้านน้ำและอาหารลดลง หนี้สินเกษตรกรเพิ่มขึ้น ความยากจนที่ทวีความรุนแรงขึ้นด้วยผลที่ตามมาจากรุ่นสู่รุ่น ความไม่สงบและความรุนแรงในสังคม การเสื่อมโทรมของที่ดินและพื้นดินอาจการกลายเป็นทะเลทรายในที่สุด
คณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งเอเชียและแปซิฟิก (ESCAP) จึงให้ความสำคัญกับภัยแล้งมุ่งเน้นผลในเชิงรุกมากกว่าเชิงรับ เพราะการดำเนินการใด ๆ ในยามเมื่อเกิดภัยแล้งจะพบว่าต้องการใช้งบประมาณสูงและไม่ยั่งยืนเท่ากับการดำเนินการเพื่อการป้องกัน ดังนั้นการบูรณาการข้อมูลที่ได้จากอวกาศจะสามารถช่วยในการสังเกตและเฝ้าระวัง ร่วมกับข้อมูลภาคพื้นดินจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในการต่อสู้กับภัยแล้ง
ภายใต้โครงการการประยุกต์ข้อมูลจากเทคโนโลยีอวกาศในระดับภูมิภาคเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (RESAP) ของ ESCAP ได้สนับสนุนการเข้าถึงและบริการข้อมูลที่ทันสมัยโดยไม่มีค่าใช้จ่ายให้แก่ประเทศต่างๆ ในภูมิภาค เพื่อสนับสนุนการวางแผน การบริหารจัดการ และการตัดสินใจในการรับมือกับภัยแล้ง ที่จะนำไปสู่การเสริมสร้างการจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ การปรับวงรอบการเพาะปลูก การปลูกเมล็ดพันธุ์ที่ทนแล้ง ตลอดจนมาตรการการเยียวยาและบรรเทาทุกข์ได้อย่างรวดเร็ว
นอกจากนี้ ภายใต้ภารกิจความเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีอวกาศและการสำรวจระยะไกล รวมทั้งความเชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์ ขององค์การอวกาศแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา (NASA) ได้ให้ความสำคัญกับภัยแล้งและปรับปรุงการติดตามภัยแล้ง ได้แก่ดาวเทียม ภารกิจด้านการบิน และแบบจำลองการวิเคราะห์ทางคณิตศาสตร์ ได้พัฒนาวิธีการใหม่สำหรับตรวจสอบและติดตามภัยแล้งเมื่อเกิดภัยแล้ง เพื่อให้สามารถคาดการณ์ปริมาณน้ำได้ดีขึ้น รวมทั้งปรับปรุงวิธีการเสนอทางเลือกสำหรับการใช้น้ำ
โดย NASA ได้เริ่มนำเสนอภาพรวมของสภาพปัจจุบันและอนาคตของน้ำใต้ดินทั่วทั้งสหรัฐอเมริกา ทั้งน้ำใต้ดิน น้ำที่อยู่ใต้ดินในรอยแตกและช่องว่างในดิน ทราย และหิน อันเป็นทรัพยากรสำคัญที่ให้น้ำประมาณ 41% ที่ใช้ในการชลประทานพืชผล และ 44% ของน้ำดื่ม ซึ่งในช่วงฤดูแล้งปริมาณฝนและน้ำบนบกลดน้อยลงส่งผลให้น้ำบาดาลถูกสูบขึ้นมาใช้มากขึ้นความต้องการน้ำใช้ที่สูงขึ้น ด้วยแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ที่ซับซ้อนร่วมกับข้อมูลดาวเทียมและข้อมูลสภาพอากาศ ซึ่งการติดตามข้อมูลภัยแล้งจากห้วงอวกาศนี้จะมีการติดตามรับข้อมูล และปรับปรุงทุกสัปดาห์ ทำให้สามารถคาดการณ์ภัยแล้งล่วงหน้าได้ 30-90 วัน
สิ่งที่ NASA ได้ทำหลังจากรับข้อมูลจากดาวเทียมนั่นคือการวิเคราะห์ดัชนีพืชพรรณและพืชผลที่มีความเครียดเกี่ยวกับน้ำมากน้อยเพียงใด ด้วยข้อมูลด้านอุณหภูมิที่ครอบคลุมพื้นผิวที่ได้จากหนึ่งในหลากหลายเครื่องตรวจวัดจากระยะไกล (Remote Sensor) หรือเครื่องบันทึกพลังงานที่สะท้อนจากพื้นผิวของวัตถุ โดยเหล่านักวิทยาศาสตร์ของ NASA ได้สร้าง Evaporative Stress Index ที่สามารถอธิบายถึงการเปลี่ยนแปลงของการคายการระเหยของน้ำจากพืชต่างๆ หรือพื้นที่การเพาะปลูกไปในอากาศ ดัชนีความเค้นหรือความเครียดจากการเสียน้ำของพืชนี้เน้นพื้นที่ที่มีอัตราการใช้น้ำสูงหรือต่ำเป็นพิเศษแบบ Near Real Time ที่สามารถให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับปริมาณความชื้นที่มีอยู่ในพืชบนพื้นดิน ที่สามารถนำไปใช้ในการเตือนล่วงหน้าเพื่อลดความเสียหายในการเพาะปลูก นอกจากนี้ยังเป็นข้อมูลและระบบที่สำคัญต่อการวางแผนระยะยาวและการจัดการภัยแล้งได้อย่างดี
สำหรับ GISTDA นอกจากจะใช้ข้อมูลการติดตามพื้นที่แห้งแล้งที่ NASA เผยแพร่ให้ประชาคมโลกใช้งานในระดับโลกและภูมิภาคของโลก แล้วนั้น GISTDA ยังได้เสริมข้อมูลจำเป็นเพื่อการติดตามและคาดการณ์ภัยแล้งของประเทศไทยลงสู่ระดับพื้นที่ทั้งการติดตามปริมาณน้ำสะสมจากแหล่งน้ำขนาดเล็กและการใช้แบบจำลองเพื่อการติดตามข้อมูลดัชนีพืชพรรณและพืชผลที่มีความเครียดจากน้ำ ด้วยข้อมูลดาวเทียมที่มีรายละเอียดที่มีคุณภาพเพียงพอที่จะทำให้สามารถติดตามและวางแผนเพื่อการบริหารจัดการรวมทั้งการรับมือภัยแล้งในบ้านเราได้เป็นอย่างดี ที่ GISTDA จะนำเสนอลงรายละเอียดต่อไปครับผม
แหล่งอ้างอิง:
NASA Western Water Applications Office. NASA Strengthens Our Resilience to Drought. ค้นวันที่ 13 พฤษภาคม 2566. สืบค้นจาก https://wwao.jpl.nasa.gov/drought-western-us/
National Centers for Environmental Information. Measuring Drought. ค้นวันที่ 13 พฤษภาคม 2566. สืบค้นจาก https://www.ncei.noaa.gov/.../monit.../dyk/measuring-drought
United Nations ESCAP. Monitoring Drought from Space. ค้นวันที่ 13 พฤษภาคม 2566. สืบค้นจาก https://www.unescap.org/.../regional-space-cooperation...